***ทุ่มงบกว่า 4 พันล้าน พัฒนาสนามบินเชียงราย*** (ชมคลิปคลิกๆ)

 

***หลังลูกค้าใช้บริการเนืองแน่นเฉียด 3 ล้านคนต่อปี ทุ่มงบกว่า 4 พันล้าน พัฒนาเต็มรูปแบบ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สร้างทางยกระดับทางเข้า สร้างลานจอดทั้งอากาศยาน และคอปเตอร์ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน โรงไฟฟ้า ประปา และอื่นๆ อีกมากมาย….

 

 

***เวลา 11.00 น. วันนี้ (2 ต.ค.61) ณ ห้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) นายวีระศักดิ์ ชั้นบุญใส ผอ.ทชร.พร้อมด้วย นางเทียมจันทร์ พันธุ์เจริญ,นายวีระศักดิ์ อินทร์แสง รอง ผอ.ทชร.,ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมแถลงข่าวครบรอบการดำเนินงาน 20 ปี ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยมีสื่อมวลชนเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก

***นายวีระศักดิ์ ชั้นบุญใส กล่าวว่า วันนี้ เป็นวันครบรอบการดำเนินงาน 20 ปีของ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ซึ่งได้มีการประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เวลา 07.00 น.และประกอบพิธีสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญ กำลังใจ แก่ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนบริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่ปฎิบัติหน้าที่ภายในท่าอากาศยานฯ แห่งนี้

***ทั้งนี้เนื่องจากตนได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้มาดำรงตำแหน่ง ผอ.ทชร.ในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้รับทราบแผนการดำเนินงานปรับปรุง ทชร.ซึ่งทั้งหมดจะยึดตามแผนการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม จากสถิติในปี 2560 ทชร.มีเที่ยวบินขึ้น-ลง สูงถึง 17,667 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการถึง 2,503,375 คน และในปี 2561 ตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนกันยายน 2561 มีเที่ยวบินขึ้น-ลง 11,643 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสาร 1,651,775 คน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น คาดว่าจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสาร รวมถึงผู้ที่มาใช้บริการที่มีเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะสูงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับปริมาณผู้ที่จะมาใช้ท่าอากาศยาน ที่เพิ่มมากขึ้น ทางฝ่ายผู้บริหารระดับสูงของ ทอท.ได้รับทราบถึงความแออัดและปัญหาที่จะตามมาในอนาคต จึงได้สั่งการจัดทำแผนพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เพื่อบรรเทาความแออัด ในรูปแบบที่ทันสมัย เพื่อความเป็นเลิศของท่าอากาศยาน จะเริ่มปรับปรุงตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2576 งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,458.60 ล้านบาท ซึ่งได้จัดทำแผนพัฒนาเป็น 3 ระยะ ดังนี้

*** 1.)แผนพัฒนางานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัด ปี 2562 ถึง 2566 งบประมาณ 2,643,48 ล้านบาท ใช้ในการ ก่อสร้างทางขับขนานด้านทิศเหนือ,ปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอดเพื่อรองรับอากาศยาน และก่อสร้างทางเชื่อม-ทางวิ่ง,ปรับปรุงพื้นผิวทางขับ A และ B,ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารพร้อมระบบสนับสนุน,ปรับปรุงถนนภายในท่าอากาศยาน ซุ้มประตูทางเข้า และงานก่อสร้างทางยกระดับ,งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน,สร้างอาคารบำรุงรักษา และ ก่อสร้างอาคารดับเพลิงกู้ภัย นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้าง MRO ด้านทิศเหนือ,การก่อสร้างลานจอดรถด้านทิศเหนือรองรับ GA,อาคารจอดรถสัมปทาน 1 และ 2

***นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของแผนพัฒนาในระยะที่ 2.)ตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2571 จะใช้งบประมาณ 1,456.11 ล้านบาท เพื่อพัฒนาก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ด้านทิศเหนือ,สร้างร้านจอดอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น,สร้างทางขับขนานบางส่วนทางด้านทิศใต้,ก่อสร้างส่วนต่อขยายผู้โดยสารด้านทิศใต้ และ ก่อสร้างอาคารรองรับ VIP และ VVIP ในส่วนของระบบสนับสนุนจะทำการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย,ระบบผลิตน้ำประปา,ด้านก่อสร้างขยายอาคารคลังสินค้า และงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย อีกด้วย

***ในส่วนของแผนพัฒนาระยะที่ 3.)จะเริ่มตั้งแต่ปี 2572 ถึง 2576 รวม 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 359.01 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างขยายร้านจอดอากาศยานด้านทิศใต้เพิ่มขึ้นอีก 3 หลุมจอด,ก่อสร้างขยายโรงซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น และ การก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้

***ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ยังกล่าวด้วยว่า ทชร.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาท่าอากาศยานฯ ในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเป็น “ศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน หรือ Regional Center for Aviation-Related Business” เพื่อความเจริญของจังหวัดเชียงราย และประเทศชาติ โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีความมุ่งมั่นจะดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานฯ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการบินของประเทศ ต่อไป และในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานฯ ก็จะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงรายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชาวเชียงราย เพิ่มมากขึ้น อีกด้วย

***ต่อข้อถามถึงการขยายสายการบินเชื่อมโยงไปยังทวีปอื่นๆ นอกจากทวีปเอเซีย ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาทางกายภาพของท่าอากาศยานฯ ยังไม่สามารถรองรับสายการบินระยะไกลได้ ส่วนของการขยายเส้นทางบินไปยังภาคอีสาน ได้มีการประสานงานในเบื้องต้นเพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับแล้ว โดยได้ประสานกับท่าอากาศยานอุดรฯ และ ท่าอากาศยานของ สปป.ลาว รายการบินเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ส่วนจะทำการบินเมื่อไหร่ อย่างไรนั้น ในส่วนของสายการบินที่จะเปิดทำการบินกำลังประเมินจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการอยู่ ซึ่งคาดว่ามีความเป็นไปได้สูง

***สำหรับสายการบิน ที่เปิดทำการบินในท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงรายปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 12 สายการบิน เป็นสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบิน คือ 1.สายการบินไทยสมายส์ จำนวน 6 เที่ยวบินต่อวัน 2.สายการบินไทยแอร์เอเซีย จำนวน 14 เที่ยวบินต่อวัน 3.สายการบินนกแอร์ จำนวน 6 เที่ยวบินต่อวัน 4.สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส จำนวน 6 เที่ยวบินต่อวัน 5.สายการบินไทย ไรออน แอร์ จำนวน 10 เที่ยวบินต่อวัน

***ส่วนสายการบินระหว่างประเทศประกอบด้วย 1.สายการบิน China Eastern เปิดทำการบินสายเชียงราย-คุณหมิง จำนวน 6 เที่ยวบิน (จันทร์/พุธ/ศุกร์) 2.สายการบิน Ruili Airlines ทำการบิน เชียงราย-สิบสองปันนา จำนวน 6 เที่ยวบิน (อังคาร/พฤหัส/เสาร์) 3.สายการบิน Hainan Airlines ทำการบิน เชียงราย-เซินเจิ้น จำนวน 4 เที่ยวบิน (พฤหัส/เสาร์) 4. สายการบิน Sichuan Airlines ทำการบิน เชียงราย-เฉิงตู จำนวน 6 เที่ยวบิน (จันทร์/พฤหัส/เสาร์) 5.สายการบิน Hongkong Express ทำการบิน เชียงราย-ฮ่องกง จำนวน 4 เที่ยวบิน (จันทร์/ศุกร์) และ 6. สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ทำการบิน เชียงราย-ฉางชา จำนวน 8 เที่ยวบิน (อังคาร/พฤหัส/ศุกร์/อาทิตย์)

////////////////////////////////////////
ข่าวโดย เพทาย บ้านชี

Related posts