เลขาธิการ ปปง. แถลงผลงาน ปปง. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยึดทรัพย์ในคดีสำคัญกว่า 40,000 ล้านบาท

 

เลขาธิการ ปปง. แถลงผลงาน ปปง. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยึดทรัพย์ในคดีสำคัญกว่า 40,000 ล้านบาท

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 พลตำรวจเอก ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการเพื่อเร่งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงาน ปปง. จึงมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
ผลงานที่สำคัญในการดำเนินการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินเพื่อวิเคราะห์ธุรกรรม จนนำไปสู่กระบวนการยึดและอายัดทรัพย์สิน ในช่วง 1 ปีเศษ นับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ได้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินและส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินในคดีสำคัญต่างๆ แยกเป็น

คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับเอกชนกระทำความผิด อาทิเช่น

1. คดีคลองด่าน มูลค่าความเสียหาย 32,555 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 6,352 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 8 ราย คือ 1.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 3.บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด 4.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด 5.บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด 6.บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล 8.บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดรายแล้ว

2.คดีจำนำข้าว มีคดีกว่า 100 คดี มูลค่าความเสียหาย 405,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ส่วนหนึ่งที่มาจาก 4 สัญญา (ซึ่งเป็นสัญญาจีทูจี) ซึ่งเป็นเพียงคดีเดียวใน 100 กว่าคดี มูลค่า 12,909 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวน คดีพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง 2. นายสุธี เชื่อมไธสง 3. นายนิมล หรือณพชร รักดี 4. นายสมคิด เอื้อนสุภา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

3. คดีธนาคารกรุงไทย มูลค่าความเสียหาย 10,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 64 ล้านบาท

4. คดีทุจริตการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน มูลค่าความเสียหาย 657 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 461 ล้านบาท

คดีที่เอกชนกระทำความผิด อาทิเช่น

1.คดีค้ามนุษย์ (สถานบริการนาตารี) สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 724 ล้านบาท

2. คดีบริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัดและบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต หรือคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 9,542 ล้านบาท และสำนักงาน ปปง. ได้กล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 13 ราย คือ 1.นายสมเกียรติ คงเจริญ 2. นางธวัล แจ่มโชคชัย 3. นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี 4. นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี 5. บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต 6. บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7. บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด 8. บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ จำกัด 9. บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด 10. นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี 11. บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด 12. นางสาวสายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี 13. นายวินิจ จันทรมณี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

3.คดีธรรมกาย มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 2,344 ล้านบาท อาทิเช่น กรณีสั่งจ่ายเช็ค 27 ฉบับให้ พระธัมมชโย (โครงการเวิลด์พีซ) มูลค่า 1,585 ล้านบาท กรณีที่ดินนางสาวอลิสา อัศวโภคิน จำนวน 8 แปลง มูลค่า 289 ล้านบาท กรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัท เอ็ม – โฮม เอสพีวี 2 จำกัด กับนายอนันต์ อัศวโภคินและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มูลค่า 470 ล้านบาท เป็นต้น

4. คดีผู้ลำเลียงยาเสพติดไปยังภาคใต้โดยใช้รถไฟ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 196 ล้านบาท

5.คดีเครือข่ายไซซะนะ สำนักงาน ปปง. บูรณาการเข้าร่วมตรวจค้นกับสำนักงาน ป.ป.ส., บช.ปส., กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 500 ล้านบาท

6.คดีนายเล่าต๋า แสนลี่ สำนักงาน ปปง. บูรณาการร่วมกันกับ บช.ปส. และตำรวจภูธรภาค 5 ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 24 ล้านบาท

7.คดีพันตำรวจโทบรรยิน ตั้งภากรณ์ มูลค่าความเสียหาย 263 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 29 ล้านบาท

8.คดีการพนันออนไลน์ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 115 ล้านบาท

9.คดีระหว่างประเทศ อาทิเช่น คดีนายจาง ชิง ตวน สำนักงาน ปปง. ประสานงานกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มูลค่าประมาณ 1,000 ล้าน สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 346 ล้านบาท

รวมมูลค่าความเสียหายในคดีสำคัญต่างๆ รวมทั้งสิ้น 469,034 ล้านบาท โดยทรัพย์สินที่ สำนักงาน ปปง. ยึดและอายัดทรัพย์และส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา รวมมูลค่าทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำนักงาน ปปง. จะต้องนำกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปดำเนินการเพื่อนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความความผิดกลับคืนสู่แผ่นดินต่อไป

ผลงานที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือ จากการที่ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือที่เรียกคำย่อว่า AML/CFT (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism) ซึ่งเป็นการประเมินความสอดคล้องการดำเนินงานของประเทศไทยใน “ด้านกรอบกฎหมายและด้านประสิทธิผล” เทียบกับ “มาตรฐานสากลของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force – FATF)” ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกประเทศมีมาตรฐานการปฏิบัติที่มีประสิทธิผลในระดับเดียวกัน เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้อาชญากรแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่มีความหย่อนยานของกฎระเบียบและมาตรการ AML/CFT
โดยระหว่างวันที่ 15-21 กรกฎาคม 2560 คณะผู้แทนไทยนำโดยสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่ APG (Asia-Pacific Group on Money Laundering – APG) ณ กรุงโคลอมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

ผลจากการประชุมสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลใน “ด้านกรอบกฎหมาย” ในระดับมากและมากที่สุดจำนวน 26 ข้อ จาก 40 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 56.18 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการประเมินครั้งก่อนเมื่อปี 2550 ที่ได้เพียงร้อยละ 31 โดยเป็นผลจากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ของการดำเนินมาตรการ AML/CFT พบว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการในการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากจากที่ประชุม APG โดยเฉพาะใน 4 ด้านจาก 11 ด้านที่ไทยได้รับการประเมินว่ามีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูง (substantial level)

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจในการเข้ารับการประเมินครั้งนี้ แม้ว่าการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ของการดำเนินมาตรการ AML/CFT เพิ่งมีการประเมินเป็นครั้งแรกภายหลังการปรับปรุงมาตรฐานสากลในปี 2555 แต่สำหรับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ในระดับสูงที่ประเทศไทยได้รับจำนวน 4 ด้านนั้น ถือว่าทัดเทียมประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเบลเยี่ยม และมีผลการดำเนินงานในระดับสูงมากกว่าออสเตรียที่ได้รับผลการประเมิน “ด้านประสิทธิผล” ในระดับสูงเพียง 3 ด้านเท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ยังคงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินการให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริต/รับสินบน ยาเสพติด การเลี่ยงภาษี การปั่นหุ้น และการลักลอบหนีศุลกากร อีกทั้ง ข้อบกพร่องด้านกรอบกฎหมายต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับภัยอาชญากรรมข้ามชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ และเฝ้าระวังธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงต่อไป ทั้งนี้ การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และจากผลการประเมินที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ APG ส่งผลให้ประเทศไทยจะไม่ถูกกำหนดอยู่ในรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้าน ฟอกเงิน เหมือนเช่นที่เคยถูกประกาศอยู่ในรายชื่อประเทศเสี่ยงเมื่อปี 2555

เลขาธิการ ปปง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ สำนักงาน ปปง. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2542 สำนักงาน ปปง. จึงได้กำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาของสำนักงาน ปปง. แต่เนื่องจากในปีนี้ตรงกับวันหยุดราชการ จึงได้กำหนดจัดงานในวันนี้

ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้มอบเงินของผู้ร่วมงานที่ร่วมบริจาคให้กับมูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพของพระภิกษุ สามเณรและประชาชน โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 679,879 บาท อีกด้วย

สำหรับการทำงานของสำนักงาน ปปง. ในอนาคต จะสามารถสานต่อการทำงานในทุกด้านในทุกมาตรการให้เข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนในเรื่องของการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การ ก่อการร้าย และเพื่อความสงบสุขและความมั่งคงของประเทศชาติต่อไป

 

เบญจมาศ อักษรนิตย์ รายงาน

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์   http://www.siamfocustimenews.com

Related posts