ชาวไทลื้อลำปาง จัดงาน “สืบสานประเพณี สงกรานต์ไทลื้อ” ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชุมชนอื่นใดในนครลำปาง

ชาวไทลื้อลำปาง จัดงาน “สืบสานประเพณี สงกรานต์ไทลื้อ” ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชุมชนอื่นใดในนครลำปาง ดำเนินงานโดยนายกสมาคมไทลื้อจังหวัดลำปางและชุมชนไทลื้อตำบลกล้วยแพะ

ชุมชนไทลื้อกล้วยแพะจัดงาน “สืบสานประเพณี สงกรานต์ไทลื้อ” เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา นำโดย สท.ไกรเพชร ปิ่นฝั้น นายกสมาคมไทลื้อจังหวัดลำปางร่วมกับชุมชนกล้วยแพะ จัดตั้งขบวนแห่ไม้ค้ำศรี และขบวนการแต่งกายของไทลื้อ ภายในหมู่บ้านกล้วยแพะ โดยขบวนได้เริ่มจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกล้วยแพะไปยังวัดม่อนธาตุ หมู่ 2 ชุมชนกล้วยแพะ ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนกล้วยแพะร่วมสืบสานประเพณี สงกรานต์ไทลื้ออย่างคับคั่ง

โดยในงานได้รับเกียรติจากนายนิคม เชาว์กิตติโสภณ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการเปิดงานฯและมอบเงินสนับสนุนการจัดงานจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วย สจ.จินณ์ ถาคำฟู สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง นายธาราเงิน จันทร์คำ รองนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร นายสมยศ โพธิ์ทอง ประธานสภาเทศบาลเมืองเขลางค์นคร นายบุญส่ง ศรียอด ประธานชุมชนบ้านหัวฝาย พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่านร่วมในพิธี มีนายศรีมอน ยะสืบ ประธานชุมชนบ้านกล้วยแพะ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ ณ บริเวณลานเอนกประสงค์หน้าวัดม่อนธาตุ หมู่ 2 ชุมชนกล้วยแพะ ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ประวัติไทลื้อในจังหวัดลำปาง

กลุ่มวัฒนธรรมไทลื้ออยู่บริเวณ สิบสองปันนา ปัจจุบันอยู่ในเขตยูนนาน ประเทศจีน เป็นเมืองในหุบเขาและมีแม่น้ำโขงหรือเรียกแม่น้ำของ น่าจะเหมือนประเทศลาวเรียก ไหลผ่านมีศูนย์กลางอยู่เมืองเชียงรุ่ง สมัยก่อนมีประมุขคือพระเจ้าแผ่นดินในชื่อที่เราคุ้นเคยซึ่งเรียกกันว่า เจ้าฟ้าแสนหวี ปัจจุบันชาวไทลื้อกระจายตัวอยู่ในดินแดนต่างๆดังนี้ สิบสองปันนาในประเทศจีน เมืองยอง ในประเทศพม่า แคว้นพงสาลี ในประเทศลาว เมืองบินห์ลู ในประเทศเวียดนาม ชาวไทลื้อได้เข้าสู่เมืองนครลำปางในช่วงเวลาที่ตรงกับสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง ในปีพ.ศ. 2337 – 2368 ซึ่งท่านอนุญาตให้พำนักอยู่ในเมืองนครลำปางระยะหนึ่งก่อนที่จะขอย้ายไปตั้งทำเลใหม่ ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน

โดยมีคำบอกเล่าถึงบรรยากาศการเคลื่อนย้ายดังกล่าวจากผู้สูงอายุว่า ครอบครัวไทลื้อที่มาจากเมืองยองเมื่อมาถึงเชียงรายได้แยกย้ายกันมา 7 ครอบครัวโดยได้มาพักอยู่ที่เมืองนครลำปาง ซึ่งในขณะที่มาพักอยู่ที่นครลำปางนั้นเจ้าหลวงได้ทดลองใจ กลุ่มไทลื้อด้วยการทิ้งเงินทองของมีค่าไว้ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครแตะต้องเลย ต่อมามีการถามความสมัครใจหมู่บ้านต่างๆในการรับชาวไทลื้อไปอยู่ด้วย แคว่น(ผู้นำหมู่บ้าน) ตำบลนาคต อำเภอแม่ทะ ยินดีที่จะรับไปอยู่ด้วย แต่ระหว่างการเดินทางนั้น ชาวไทลื้อได้มาเจอหนองน้ำใกล้ๆห้วยแม่ปุง ดูลักษณะภูมิประเทศมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ สองฝั่งของลำห้วยมีป่ากล้วยขนาดใหญ่ขึ้นงอกงามจึงตัดสินใจตั้งบ้านเรือนที่นี่และเริ่มต้นจากบ้านกล้วยหลวงเป็นต้นมา และขยายเพิ่มออกไปและได้นำเอาคำว่ากล้วยมาเป็นชื่อนำหน้าชื่อหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยม่วง บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยฝาย และบางส่วนใน อำเภอแม่ทะ

ชาวไทลื้อมีการรักษาวัฒนธรรมภาษาพูดในถิ่นของตน และเป็นที่น่าสนใจ มีเสน่ท์ในภาษาไทลื้อ ชาวไทลื้อลำปางมีความรักและสามัคคีในหมู่พวกพ้องสูง มีความสามารถในการพูดได้หลายภาษา ตั้งแต่ภาษาไทลื้อ คำเมือง ภาษาอังกฤษ ในเรื่องของศาสนา ความเชื่อของชาวไทลื้อก็ไม่ต่างไปจากคนเมืองทั่วไปนักที่นับถือผี และพุทธ โดยมีวัดกล้วยหลวงเป็นวัดแรกที่ก่อสร้าง ตั้งแต่วัดพระธาตุดอยม่วงคำ ถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมของการพบปะกัน โดยเฉพาะในช่วงงานประเพณี อาหารกิน ชาวไทลื้อลำปาง มีการกินอยู่อย่างง่ายๆ ไม่พิถีพิถัน กินอาหารที่หาได้จากธรรมชาติตามฤดูกาล การแต่งกายของชาวไทลื้อ ในปัจจุบันก็จะคล้ายกับชาวเหนือทั่วไป แต่เดิมนั้น ผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงินหรือดำ รัดรูป ผ่าอก เอวสั้น แขนกระบอก นุ่งซิ่นด้วยผ้าฝ้าย ส่วนทรงผมนิยมเกล้าผม ส่วนชายไทลื้อนิยมนุ่งเตี่ยวสะดอ เสื้อย้อมเมล็ดนิล หรือคราม ปล่อยชายเสื้อยาวถึงหัวเข่า ทรงผมตัดเกรียนที่ท้ายทอย นิยมสะพายย่ามแบบไทลื้อ ส่วนใหญ่จะปักด้วยมือ สวยงาม

ภาวินันท์ บุตรหล้า ลำปาง/รายงาน

Related posts