ปทุมธานี ประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตเจ้าพระยาทำปลาตาย (ชมคลิปคลิกๆ)

ปทุมธานี ประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตเจ้าพระยาทำปลาตาย

 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เวลา12:30 น.นายเฉลียว เทียนวรรณ ประมงจังหวัดปทุมธานี พร้อมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี ชลประทานปทุมธานี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและหาสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงอย่างมากทำให้เกิดวิกฤตน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
หลังจากที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีปลา กุ้ง ลอยหัว และมึนเมาน้ำ ตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดปทุมธานีและมีชาวบ้านระดมจับสัตว์น้ำที่หนีขึ้นมาริมฝั่ง โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงเรือเพื่อออกสำรวจสภาพน้ำเสีย ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประตูน้ำปากคลองหน้าวัดสำแล ไปจนถึงประตูน้ำปากคลองใหญ่ จำนวน 5 จุด ผลสำรวจดังนี้ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ อยู่ที่ระดับ 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าต่ำมาก มีผลให้สัตว์น้ำตาย ระดับค่า pH อยู่ที่ 7.5-7.8 ถือว่าปกติ ค่าอุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 28.0-28.2 ก็ถือว่าปกติ สภาพสีของน้ำสีเข้มผิดปกติ บางจุดมี ฟองอากาศลอยผิวน้ำ นอกจากนี้ ยังพบซากผักตบชวาที่ลอยเน่าเสียอยู่ด้วย แนวทางแก้ไขต้องควบคุมการปิดและเปิดประตูน้ำ คาดว่ามีน้ำเสียที่ได้กักขังไว้จากการป้องกันน้ำท่วมไว้ระยะหนึ่ง ได้ปล่อยทิ้งลงในแม่น้ำพระยา จากคลองบริเวณจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และตลิ่งใกล้เคียง

นายเฉลียว เทียนวรรณ ประมงจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาปลาตายในแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องรู้สาเหตุที่ทำให้คุณภาพน้ำต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีค่าต่ำมาก ซึ่งเป็นเหตุทำให้ปลาตาย เหตุอาจมาจากน้ำทิ้งน้ำเสียหรือของเสียจากแหล่งเกษตรกรรมเช่น ทุ่งนาหรือจากแหล่งชุมชน หรือแหล่งอุตสาหกรรม เมื่อรู้เหตุแล้วจึงแก้ไข โดยกรณีนี้คาดว่าน่าจะเกิดจากน้ำในทุ่งนาที่ขังแช่อยู่นานจนคุณภาพต่ำลงถึงเน่าเสีย เมื่อออกมาจากประตูระบายน้ำในปริมาณมากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเหตุให้ออกซิเจนต่ำลง ถ้าใช่สาเหตุนี้จริง วิธีแก้และป้องกันคือต้องควบคุมการปล่อยน้ำให้ปล่อยออกมาในปริมาณไม่มากจนเกินไป ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังค่า ออกซิเจนในแม่น้ำเป็นระยะๆ ถ้าออกซิเจนลดลง ก็ต้องลดปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมา เบื้องต้นได้ประสานกับกรมชลประทานในการเปิดปิดประตูระบายน้ำ และอีกวิธีคือต้องปล่อยน้ำส่วนผิวก่อนเพราะส่วนผิวน้ำจะดีกว่าส่วนอยู่ใกล้พื้นที่มีโคลน และสิ่งเน่าเสียอยู่มากกว่า รวมทั้งให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยเจือจาง ประกอบกับระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้ทำให้น้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลลงสู่ทะเล ขณะนี้ทางชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยผลักดันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดคากว่า 2-3วันนี้คุณภาพของน้ำจะดีขึ้น

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

Related posts