ชุมชนปงยางครกใช้เกษตรทฤษฎีใหม่นำทางชีวิต บริหารจัดการด้วยบัญชี ชี้วัดความสำเร็จ

 

ชุมชนปงยางครกใช้เกษตรทฤษฎีใหม่นำทางชีวิต บริหารจัดการด้วยบัญชี ชี้วัดความสำเร็จ

เกษตรทฤษฏีใหม่เป็นแนวคิดในการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีแนวพระราชดำริพัฒนาประสิทธิภาพทางการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน ที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพาราฯลฯ อีกทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมเช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูกและใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ โดยมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก
นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ให้มีกิน มีใช้ ลดหนี้สิน โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมให้การสนับสนุน แนะนำ ส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรให้นำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปฏิบัติในการทำการเกษตร

ในส่วนของกรมฯ ต้องดำเนินการสอนแนะการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และได้สอนแนะการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพไปแล้ว ประมาณ 90% พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนโครงการตามแนวทาง 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ เกษตรกร (cell ต้นกำเนิด) ที่เข้าร่วมโครงการ ปราชญ์เกษตร สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ตามเป้าหมายที่ได้รับมอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2,750 ราย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามความก้าวหน้าของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเพิ่มเติมแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าใจหรือยังจัดทำบัญชีไม่ได้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีเงินออม อีกทั้งมีการดำเนินกิจกรรมในแปลงตามความเหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกิดผลตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเมื่อเร็วๆนี้กรมฯได้ลงพื้นที่มาติดตามผลสัมฤทธิ์ที่ชุมชนปงยางครก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานของครูสุพรรณ วงศ์อนันต์ ครูบัญชีตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของกรมตรวจฯ อีกด้วย


“การทำบัญชีคือการบันทึก อย่างเกษตรกรเองถ้าจะปลูกอะไรสักอย่าง ก็ต้องคิดแล้วว่าถ้าปลูกหรือทำอะไรนั้นจะได้อะไรขึ้นมา ขายแล้วมีกำไรหรือเปล่า แล้วอะไรจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราได้กำไรหรือขาดทุน หรือมีข้อผิดพลาดตรงไหน เริ่มต้นยังไง ขายแล้วได้กำไรหรือขาดทุนสิ่งที่จะบ่งบอกและชี้วัดได้นั่นก็คือบัญชี พอพูดถึงคำว่าบัญชีทุกคนจะบอกว่ายาก แต่ถ้าเราบอกว่าคุณต้องรู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อคุณบันทึก ทีนี้คำว่าทำบัญชีก็จะง่ายแล้ว ถามว่าแล้วบันทึกทำไม บันทึกเพื่อที่สามารถนำไปจัดการวางแผนการใช้จ่ายของเราเอง วันนี้บัญชีจะเป็นตัวช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ให้เกษตรกรมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ เพราะสามารถควบคุมและดูแลตัวเองได้ เหมือนนักธุรกิจทั่วไปที่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ว่าจะลงทุนอะไร จะซื้อหรือจะจ่ายอะไรเพิ่ม จะขายยังไงให้ได้ราคาดี โดยมีกรมตรวจฯเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านมาช่วยแนะนำให้กับเกษตรกรทุกท่าน”อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กล่าว
ทางด้านนางสุพรรณ วงศ์อนันต์ ครูบัญชีตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้น้อมนำเอาพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำไร่นาสวนผสม โดยได้แบ่งพื้นที่ปลูกผักสวนครัวตามแนวทางพระราชดำริ จำนวน 15 ไร่ ทำนาข้าว 5 ไร่ .ไม้ผล 5 ไร่ พืชผักสวนครัว 3 ไร่ และทำเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ แหล่งน้ำเลี้ยงปลา 1 ไร่ และบริหารจัดการโดยใช้บัญชีเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ


ครูสุพรรณเล่าว่าเดิมตนประกอบอาชีพเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ต่อมาลามาเพื่อดูแลพ่อที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง นั่นเป็นโอกาสให้เธอได้ทำการเกษตรที่บ้านไปด้วย และคิดว่าสาเหตุที่พ่อป่วยน่าจะมาจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตร จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำเกษตรปลอดสารเคมี จนเมื่อเมื่อสามีได้เกษียนอายุจากงาน จึงได้มาช่วยกันทำเกษตรเต็มรูปแบบ
จากนั้นครูสุพรรณได้เริ่มบันทึกบัญชีต้นทุนจากการประกอบอาชีพ แต่ด้วยความที่เธอไม่มีความรู้เรื่องบัญชี จึงไม่สามารถนำข้อมูลที่บันทึกเอาไว้มาใช้ประโยชน์ได้เลย ต่อมาในปี 2559 มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการเป็นครูบัญชีอาสาของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ลำปาง เพื่อไปทำหน้าที่ครูบัญชีอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
หลังการอบรมจึงได้นำข้อมูลที่บันทึกไว้ในปี 2558-2559 มาสรุปผลกำไร ขาดทุน และนั่นทำให้ครูสุพรรณได้เห็นถึงประโยชน์ของบัญชีต้นทุนอาชีพ หลังจากนั้นจึงเริ่มบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพตามแบบที่อบรมมา พร้อมทั้งได้สอนแนะให้กับเกษตรกรในกลุ่มที่ปลูกข้าวชุมชน พร้อมทั้งจะมีการนำปัญหาในการบันทึกบัญชีมาพูดคุยเพื่อช่วยกันแก้ไขให้ปัญหานั้นลุล่วงไปได้ด้วยดี


“การที่กรมตรวจฯเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการทำบัญชี ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น เพราะบัญชีเป็นตัวชี้วัดในสิ่งที่เราทำว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว พอเราเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชีแบบนี้แล้ว เราก็อยากให้เกษตรกรที่เขายังไม่มีความรู้เรื่องนี้หันมาทำบัญชีบ้าง”
ครูสุพรรณบอกว่าการถ่ายทอดความรู้ในการบันทึกบัญชีต้นทุนในการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านในตอนแรกๆนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางคนพอลงบันทึกได้แล้วก็บ่นว่าเห็นมีแต่รายจ่ายมากกว่ารายรับ เธอจึงบอกกับชาวบ้านว่านั่นแหละคือจุดอ่อน ดังนั้นต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ต้องช่วยกันหาวิธีลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ จึงได้ร่วมมือกันทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า และของอื่นๆที่จำเป็นเอาไว้ใช้เองเพื่อลดรายจ่าย
“พอรายจ่ายลดลงทุกคนก็มีกำลังใจมากขึ้น โดยเราเองทำตัวให้เป็นแบบอย่างกับเขาก่อน พอเขาเห็นเราทำได้ ชาวบ้านคนอื่นๆก็สนใจ กลุ่มของเราจะมีกิจกรรมทำร่วมกันทุกเดือน รายจ่ายของทุกครัวเรือนก็ลดลงเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เห็นผลและเชื่อมั่นในการทำบัญชีมากยิ่งขึ้น เราเองก็ปฏิบัติตัวเป็นต้นแบบให้กับพวกเขา เหมือนดังคำที่ว่า “แบบอย่างที่ดี มีค่ามากกกว่าคำสอน” ใช้ได้ผลจริงๆค่ะ”ครูสุพรรณ บอกเล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขใจในตอนท้าย


จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ / เรื่อง-ภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์   http://www.siamfocustimenews.com

Related posts