ท่องเที่ยว ชมวัด ทั่วไทย วัดพรหมรังษี ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

ท่องเที่ยว ชมวัด ทั่วไทย วัดพรหมรังษี ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

 

ประวัติวัดพรหมรังษี สร้างขึ้นเมื่อปี พ. ศ. ๒๕๒๐ เป็นวัดที่ถือกำเนิดขึ้นจากแรงศรัทธาและเคารพรักของเหล่าศิษยานุศิษย์ที่มีต่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) บนเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔/๑ หมู่ ๕ แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีครูพิทักษ์พรหมรังษี (สมพล จิรัฎฐิติ) เป็นเจ้าอาวาส
ตั้งแต่แรกสร้างจนถึงปัจจุบัน วัดมีบรรยากาศสงบ ร่มรื่น เหมาะสำหรับการนั่งสมาธิหรือปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ดังนี้
๑. สถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติจากพระครรภ์มารดา ตำบลหนึ่งคืออุทยานลุมพินี
๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตำบลหนึ่งคือควงไม้โพธิ์พุทธคยา
๓. สถานที่พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา ตำบลหนึ่งคือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียก สารนาถ)
๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตำบลหนึ่งคือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันเรียก กาเซีย)
เพื่อให้เกิดความสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา อนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธามายังสถานที่ ๔ ตำบลนี้ ด้วยมีความเชื่อว่าพระตถาคตเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไปแล้ว ณ สถานที่นี้ และพระตถาคตเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้ว ณ สถานที่นี้ ดูก่อนอานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใด เจติยจาริกของพระตถาคตเจ้าทั้ง ๔ ตำบลนี้แล้ว จักเป็นคนเลื่อมใสเมื่อกระทำกาลกิริยา (ตาย) ลง ชนทั้งหลายเหล่านั้นจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความ ๔ ตำบลว่าเป็นที่ควรเห็น ควรดู ควรให้เกิดสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธาด้วยประการฉะนี้แล นี้เองเป็นที่มาของสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในดินแดนพุทธภูมิ ที่ชาวพุทธทั้งหลายสมควรอย่างยิ่งที่จะไปนมัสการ กราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต
วัดพรหมรังษี ได้จำลองสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ จากสถานที่จริงในแดนพุทธภูมิ ดังนี้
๑. สถานที่ประสูติ “ปราสาทพุทธมารดา”
๒. สถานที่ตรัสรู้ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (หน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา อินเดีย)
พระแท่นวัชรอาสน์ และเจดีย์พุทธคยา (พระอุโบสถของวัด ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และสมเด็จองค์ปฐม)
๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา “ธรรมเมกขสถูป” องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
๔. สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

 

ก่อนทรงตรัสรู้
๑. ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา พระพุทธรูปปางทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา (วิธีที่ทรงเข้าพระทัยว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ตรัสรู้ โดยกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทรงอดพระกระยาหาร จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิวพรรณ) เศร้าหมอง มีพระอาการประชวรอ่อนเพลียอิดโรย จนหมดสติล้มลง)
๒. ทรงปราบพญามาร ก่อนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ได้ประทับนั่งที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ (โพธิ์บัลลังก์) พญามารได้กล่าวตู่ว่าเป็นสมบัติของตน องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอ้างถึงแม่พระธรณีเป็นพยาน ในการทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนตามลำดับ ได้ทรงหลั่งทักษิโณทก (น้ำที่ทรงกรวดทุกครั้ง)
แม่พระธรณีเก็บน้ำไว้ที่มวยผม และบีบออกมา พญามารจึงพ่ายแพ้
เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว
๑. พระพุทธรูปปางถวายเนตร หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน จากนั้นเสด็จทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมาโพธิ์
๒. เวฬุวัน พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธทรงเลื่อมใสและได้น้อมถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเป็นวัดเวฬุวันมหาวิหาร และเป็นสถานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แล้วส่งไปเป็นพระธรรมทูตประกาศพระศาสนา อันเป็นที่มาของวันมาฆบูชา[3]
๓. รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงเสด็จดำเนินจงกรมแก้ว
๔. สระมุจลินทร์ ในสัปดาห์ที่หกหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ขณะที่ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย พญานาคชื่อมุจลินท์นาคราช ได้ขึ้นจากสระน้ำเข้าไปขดวงขนด
๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออกแล้วจำแลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์
๕. สมเด็จพระชินบัญชรสมณโคดมเจ้า
ที่ควรรู้
๑. ต้นโพธิ์ “อานนทโพธิ์” (หน่อจากต้นโพธิ์ “อานนทโพธิ์” วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี อินเดีย)
๒. วิหารสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์   http://www.siamfocustimenews.com/

Related posts