รัฐบาลจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ และวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา โชว์ 11ริ้วขบวน “พระบรมธาตุ พุทธศิลป์ แผ่นดินพระทรงธรรม”อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสมัยทวารวดี – รัตนโกสินทร์ให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ (ชมคลิปคลิกๆ )

รัฐบาลจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ และวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา โชว์ 11ริ้วขบวน “พระบรมธาตุ พุทธศิลป์ แผ่นดินพระทรงธรรม”อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสมัยทวารวดี – รัตนโกสินทร์ให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ

ทั้งการแสดงดนตรีไทย ริ้งขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และการแสดงบนเวที นี้ เป็นการจำลองส่วนหนึ่งของกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียติพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 ก.ค. ที่ทัองสนามหลวง

โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรมพร้อมผู้บริหารกระทรวงกล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฏาคม 2561

กิจกรรมครั้งนี้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์กรศาสนา จัดงาน เพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่มีมายาวนานถึง 1,400 ปี และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชของไทยทุกพระองค์ ตลอดจนเทิดทูนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และทรงปกครองประเทศและดูแลพสกนิกรชาวไทยด้วยหลักทศพิธราชธรรม

โดยกิจกรรมหลักใช้ชื่อว่า “พระบรมธาตุ พุทธศิลป์ แผ่นดินพระทรงธรรม” โดยจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ พุทธศิลป์ แผ่นดินพระทรงธรรม ตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์ 11 ริ้วขบวน ได้แก่ 1.ธรรมจักรยาตรา เป็นรถขบวนอัญเชิญธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี และรถขบวนจำลองวงล้อธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา 2. เทียนพรรษาเสริมศาสน์ ขบวนจำลองแห่เทียนพรรษาที่แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม เป็นประเพณีตั้งแต่โบราณกาลในวันเข้าพรรษา 3. บรมนาถทวารวดี เป็นรถขบวนจำลองโบราณสถานวัดคูบัว จ.ราชบุรี พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทศิลปะแบบทวารวดี ใบเสมาที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ 4. เสริมศรีโคตรบูร เป็นรถขบวนจำลองพระธาตุพนม จ.นครพนม หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย 5. เจิดจำรูญศรีวิชัย เป็นรถขบวนจำลองเจดีย์พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระพุทธรูปปางมารวิชัยนาคปรก แบบศิลปะศีวิชัย 6. ไตรภพลพบุรี เป็นรถขบวนจำลองพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี และพระพุทธรูปทรงเครื่องปางนาคปรก


7. ธรรมวิถีล้านนา เป็นรถขบวนจำลองพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง และประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ จ.เชียงใหม่ 8. เชิดบูชาสุโขทัย เป็นรถขบวนจำลองเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และประดิษฐานพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 9. เกษมสมัยอยุธยา เป็นรถขบวนจำลองเจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปทรงเครื่อง วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา 10.ธรรมารัตนโกสินทร์ เป็นรถขบวนจำลองพระศรีศากยะทศพลญาณจากพุทธมณฑล พระศรีรัตนเจดีย์ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ11. แผ่นดินศาสนูปถัมภก โดยริ้วขบวนจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสำคัญ 5 ยุค อาทิ ยุคทวารวดี ล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งขบวนเฉลิมพระเกียรติฯมีข้าราชการ ศิลปินดารา ทหารกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ ตำรวจและพสกนิกร เข้าร่วมขบวน โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีปล่อยริ้วขบวน ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561

ทั้งนี้ แต่ละริ้วขบวนมีการแสดงฟ้อนรำและระบำของแต่ละยุคที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้น โดยริ้วขบวนจะเคลื่อนจากบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ผ่านถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวง เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแต่ละยุคไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบสักการบูชาและเวียนเทียนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และชมนิทรรศการพระบรมสารีริกธาตุแต่ละยุค ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมงานและขอความร่วมมือแต่งกายด้วยชุดสีขาว พร้อมตั้งโต๊ะหมู่บูชาเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ขณะที่ริ้วขบวนเคลื่อนผ่านจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ถึงมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เวลา 17.00 น.

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระบรมธาตุเจดีย์หรือพระพุทธรูปสำคัญของแต่ละจังหวัด วันที่ 15-28 กรกฎาคม 2561 ทั้ง 76 จังหวัด พิธีเจริญพระพุทธมนต์หล่อเทียนพรรษา 10 ต้น วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษา 10 ต้น วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เพื่อนำไปถวายยังพระอารามหลวง 10 วัด ได้แก่ 1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 2. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 3. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 4. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 5. วัดบุรณศิริมาตยาราม 6. วัดบวรนิเวศวิหาร 7. วัดสุทัศนเทพวราราม 8. วัดชนะสงคราม 9. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 10. วัดปรินายก

รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม อาทิ ประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ ตอบปัญหาธรรมะ การสวดสาธิตโอ้เอ้วิหารราย การแสดงธรรม ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น วันที่ 23-27 กรกฎาคม 2561 ณ ท้องสนามหลวง และกิจกรรมธรรมะสู่คนทั้งมวลโดยปฏิบัติธรรม รักษาศีล เจริญจิตภาวนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล วันที่ 22-28 กรกฎาคม 2561 ณ วัดในส่วนภูมิภาค 30 จังหวัด รวมทั้งมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลา 15.09 น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และพิธีสวดมหามงคล 5 ศาสนาถวายพระพร ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งจัดงานอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาอาเซียนใน 16 จังหวัดตามแนวชายแดนของไทยที่มีพื้นที่ติดกับกลุ่มประเทศอาเซียน


ขณะเดียวกันมีกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ คอนเสิร์ตชุมนุมนักร้องประสานเสียงนานาชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 24-26 กรกฎาคม 2561 การแสดงเฉลิมพระเกียรติ “ใต้ร่มพระมหากรุณา มหาวชิราลงกรณ” ณ โรงละครแห่งชาติ โดยวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 การแสดงรำถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร “พัทธวิสัย” มหกรรมกลอง การละเล่นของหลวง “ระเบง”และการแสดงโขน ชุดน้อมพลีกาย ถวายภักดี วันที่ 25 การแสดงรำถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร “พัทธวิสัย” การบรรเลง-ขับร้องดนตรีสากล การแสดงบัลเล่ต์มโนราห์ การละเล่นของหลวง “โมงครุ่ม กุลาตีไม้”และการแสดงโขน ชุดศึกวิรุญจำบัง และวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 การแสดงหุ่นละครเล็กเฉลิมพระเกียรติฯ วันที่ 28 กรกฎาคม การแสดงดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เวทีกลางแจ้ง และหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาวิชาการหัวข้อ “ใต้ร่มพระมหากรุณา มหาวชิราลงกรณ” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อีกทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และส่วนภูมิภาคจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จ.อุบลราชธานี อุดรธานี ชลบุรี สงขลาและเชียงใหม่ รวมถึงกิจกรรมจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ โดยจิตอาสาวัฒนธรรมร่วมทำความดีด้วยหัวใจและการทำความสะอาดโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์และศาสนสถานทั่วประเทศ และชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้ง กระทรวงจัดทำแผนและเผยแพร่สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ บทเพลงเฉลิมพระเกียรติฯ และภาพยนตร์ข่าวพระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทั้งนี้ มีพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลและขับร้องเพลง “สดุดีจอมราชา” ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย

เบญจมาศ อักษรนิตย์ รายงาน

Related posts