สื่อมวลชนสัญจร ติดตาม “กรมชลประทาน” ลงพื้นที่ติดตามการสร้างแหล่งน้ำเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก (ชมคลิปคลิกๆ )

สื่อมวลชนสัญจร ติดตาม “กรมชลประทาน” ลงพื้นที่ติดตามการสร้างแหล่งน้ำเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก

 

หลังจากที่จังหวัดตาก ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ส่งผลให้เกิดการลงทุน ในหลายอำเภอของ จ.ตาก ได้แก่ อ.แม่สอด อ. แม่ระมาด และ อ.พบพระ ทางภาครัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณ จำนวนหลายพันล้านบาท มาพัฒนา ถนนสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 ,ปรับปรุงขยายสนามบินแม่สอด พัฒนา ระบบไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มองดูแล้ว ก็ คือน้ำ เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และสำคัญคือการเกษตร ถ้าไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอทุกอย่างที่กล่าวไปก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะมีความต้องการใช้น้ำสูงมาก รัฐาบาลจึงจำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มอย่างเร่งด่วน

อย่างน้ำห้วยแม่ละเมาบางส่วนจะใช้ประโยชน์ผ่านเขื่อนทดน้ำโกกโก่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้มาชมในวันนี้ แต่น้ำจำนวนมากกลับไหลทิ้งลงแม่น้ำเมย ซึ่งกั้นพรมแดนไทย-พม่า ไปลงแม่น้ำสาละวินในพม่าโดยเปล่าประโยชน์

สถานการณ์น้ำนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของ อ.แม่สอด ลำพังทุกวันนี้อาศัยน้ำจากแม่น้ำเมยเป็นหลักในการผลิตน้ำประปา ป้อนเขตเทศบาลนครแม่สอด มีสภาพขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แถมยังมีความขุ่นสูง อีกทั้งยังมีปัญหายื้อแย่งน้ำระหว่างการผลิตน้ำประปากับการเดินเรือไทย-พม่า ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำเผชิญความยุ่งยากเข้าไปอีก

ในขณะฤดูฝน มักมีปัญหาน้ำไหลหลากท่วมตัวอำเภอ ซึ่งเป็นที่ราบริมแม่น้ำ และชุมชนเมืองกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไปโดยปริยาย สถิติในระยะเวลา 21 ปี ระหว่างปี 2537-2558 พบมีปัญหาน้ำท่วม 35 ครั้ง โดยมีน้ำท่วม 18 ปี เท่ากับปีที่เกิดเหตุมีน้ำท่วมเฉลี่ยปีละร่วม 2 ครั้ง สวนทางกับความเจริญทาง
การค้าชายแดนโดยสิ้นเชิง

ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่สอดที่มีอยู่ตอนเหนือชุมชนมีความจุเพียง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร มีขนาดเล็กเกินกว่าจะจัดการปัญหาน้ำหลากท่วมได้ ไม่นับรวมปัญหาการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณต้นน้ำ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาท่วมซ้ำซาก ควบคู่กับปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก
สภาพนี้ เป็นปัญหาหนักอกของ อ.แม่สอด โดยเฉพาะในฐานะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง
1 ใน 5 แห่งร่วมกับ จ.สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา

เมื่อรัฐบาลประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องแหล่งน้ำ จึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมั่นคงต่อเนื่องในระยะยาวตลอดไป

ในชั้นต้น กรมชลประทานได้วางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน เหนืออ่างเก็บน้ำแม่สอด ปัจจุบันที่มีความจุ 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน มีความจุ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดสรรเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยให้น้ำอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจตากมั่นคงขึ้นในระดับหนึ่ง น้ำส่วนที่เหลือส่งไปช่วยพื้นที่การเกษตรอีก 6,740 ไร่
อ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน ยังช่วย ลดปัญหาน้ำหลากท่วม โดยตัดยอดน้ำได้เกือบ 50% เพราะมีความจุ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะมีน้ำท่าไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยปีละ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้อ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี ในอนาคตข้างหน้าปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับป้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษจากอ่างแม่สอดตอนบนบวกกับน้ำจากแม่น้ำเมยอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานจึงวางแผนล่วงหน้าพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จำนวน 21 โครงการ ความจุรวม 401.66 ล้านลูกบาศก์เมตร จะขยายพื้นที่ชลประทานได้ 337,700 ไร่

ในเบื้องต้นได้คัดเลือกโครงการพัฒนาน้ำในลุ่มน้ำแม่ละเมาศึกษาความเหมาะสม จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.อ่างเก็บน้ำแม่ละเมาตอนกลาง บ้านใหม่พัฒนา ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ความจุ 85.29 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 314 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากใช้อุปโภคบริโภค 21 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปีแล้ว ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ส่งไปช่วยพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมจากเขื่อนทดน้ำโกกโก่ 16,800 ไร่ เป็น 70,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
2.อ่างเก็บน้ำแม่กึ๊ดหลวงตอนบน ต.แม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก ความจุ 2.45 ล้านลูกบาศก์เมตร
เป็นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีพื้นที่ชลประทาน 3,000 ไร่
3.อ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน บ้านแม่ละเมา ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ความจุ 84.07 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่ชลประทาน 38,000 ไร่

ทั้งห้วยแม่กี๊ดหลวงและห้วยอุ้มเปี้ยม ล้วนเป็นลำน้ำสาขาห้วยแม่ละเมา ในขณะห้วยแม่ละเมาเอง
ก็เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเมยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกั้นพรมแดนไทย-พม่า ความยาว 327 กิโลเมตร โดยมีต้นกำเนิดที่ อ.พบพระ ทิศใต้ของ จ.ตาก แล้วไหลย้อนขึ้นไปทิศเหนือ ผ่าน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง ลงสู่แม่น้ำสาละวินของพม่าที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

แถบนี้มีน้ำไหลจากทิศใต้ย้อนขึ้นเหนือ นอกเหนือจากแม่น้ำเมยแล้ว ยังมีห้วยแม่ละเมา ซึ่งมีห้วยอุ้มเปี้ยมไหลมาบรรจบก่อน แล้วไหลย้อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีเขื่อนทดน้ำโกกโก่รองรับก่อน จากนั้นไหลย้อนลงไปโดยมีห้วยกึ๊ดหลวงไหลลงสมทบอีกที ก่อนห้วยแม่ละเมาจะไหลลงสมทบแม่น้ำเมย

ทุกวันนี้ น้ำจากห้วยแม่ละเมา และลำน้ำสาขา ไหลลงแม่น้ำเมยไปเติมแม่น้ำสาละวินของพม่า โดยที่ อ.สอด อ.พบพระ จ.ตาก แทบไม่ได้รับประโยชน์เลย
หากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ละเมาตอนกลาง ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนโกกโก่ขึ้นไป จะทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนที่มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากขยายพื้นที่ชลประทานเดิม 16,800 ไร่ เป็น 70,000 ไร่แล้ว ยังสามารถส่งน้ำไปช่วยเขตเศรษฐกิจพิเศษตากที่มีความต้องการสูงในอนาคตได้อีกด้วย
เป็นการค้ำประกันความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามที่มุ่งหวัง

โกสินธ์​ จินาอ่อน​ รายงาน

Related posts