อุตรดิตถ์พร้อมจัดงาน ชิมทุเรียนหลง–หลิน กินผลไม้คุณภาพของดีจังหวัด

อุตรดิตถ์พร้อมจัดงาน ชิมทุเรียนหลง–หลิน กินผลไม้คุณภาพของดีจังหวัด

เมื่อ 5 มิ.ย.2561 ที่บริเวณลาน ด้านหน้าน้ำตกแม่พูล ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล นายสมศักดิ์ ชุ่มแจ่ม นายอำเภอน้ำปาด นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ นายมนัส วิรเศรษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ นายอุเทน โล่พานิช นายกเทศมนตรีตำบลหัวดง และนายจรูญ ปัญญายงค์ นายก อบต.แม่พูล ร่วมแถลงข่าวการจัดงานชิมทุเรียนหลง–หลิน กินผลไม้คุณภาพของดีจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2561 ตามโครงการเสริมสร้างการเพิ่มศักยภาพและรักษาอัตลักษณ์ทุเรียนและผลไม้จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลไม้ของจังหวัดอุตรดิตถ์

เช่น ทุเรียน สับปะรดห้วยมุ่น ให้เป็นที่รู้จัก และเชิญชวนพี่น้อง ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้มาเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อชิมผลไม้ของดีประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะทุเรียนหลง-หลินลับแล สับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งผลไม้ดังกล่าว กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ที่ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ และเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนหลง-หลินลับแล หมอนทอง สับปะรดห้วยมุ่น มะม่วง มะขามหวาน และผลไม้ชนิดอื่นๆ อีกมากมาย


ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–10 มิ.ย.2561 และวันที่ 20-22 ก.ค.2561 ณ ตลาดกลางผลไม้เทศบาลตำบลหัวดง (OTOP) อ.ลับแล ภายในงานจัดให้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย การประกวดทุเรียนหลง-หลิน หมอนทอง ทุเรียนพื้นเมือง และทุเรียนยักษ์, การประกวดจัดกระเช้าผลไม้, การแข่งขันตำส้มตำลีลา, แข่งขันกินทุเรียนยักษ์ และการประกวดธิดาหลง-หลินลับแล นอกจากนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังได้คัดสรรร้านจำหน่ายผลไม้ดีมีคุณภาพ จำนวน 60 ร้านค้า และร้านจำหน่ายสับปะรดห้วยมุ่นและผลไม้ของจังหวัดอุตรดิตถ์อีก จำนวน 10 ร้านค้า นำสับปะรดห้วยมุ่น ของ อ.น้ำปาด, ทุเรียนหลง-หลินลับแล, และผลไม้ที่ขึ้นชื่อ ของดีแน่แท้ของ จ.อุตรดิตถ์ มาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวในราคาชาวสวน


จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกทุเรียน จำนวนกว่า 20,000 ไร่ ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ ลับแล เมือง และ อ.ท่าปลา ทำรายได้เข้าจังหวัดปีละกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับทุเรียนพันธ์หลง–หลินลับแล เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีเฉพาะพื้นที่ อ.ลับแล และเป็นทุเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุตรดิตถ์

*****นำรัก สมบัติ ภาพ/ข่าว

Related posts