พช. UPDATE ข้อมูล จปฐ. เล็งใช้เป็นข้อมูลกลาง และเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล

พช. UPDATE ข้อมูล จปฐ. เล็งใช้เป็นข้อมูลกลาง และเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล

11 มกราคม 2561 เวลา 11.00 น. นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานเปิดกิจกรรม “จปฐ.UPDATE 2018 : ลดความเหลี่อมล้ำ ก้าวข้ามความจน”ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

​คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) ได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในเขตชนบท 77 จังหวัดเป็นประจำ ทุกปี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 28 ปี โดยมีการปรับปรุงข้อคำถามและเครื่องชี้วัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี ข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นด้านต่างๆ ของคนว่า การที่คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้นควรมีมาตรฐานขั้นต่ำในแต่ละด้านอย่างไร แค่ไหนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือน มีนาคม 2561 โดยมีอาสาสมัครลงพื้นสอบถามข้อมูลตามครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 12,935,000 ครัวเรือน
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ปี 2561 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้มีการปรับปรุงเครื่องชี้วัดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย

หมวดที่ 1 สุขภาพ มี 7 ตัวชี้วัด
1. เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัม ขึ้นไป
2. เด็กแรกเกิด ได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกติดต่อกัน
3. เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
4. ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
5. ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม
6. คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
7. คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที
หมวดที่ 2 สภาพแวดล้อม มี 7 ตัวชี้วัด
8. ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร
​ 9. ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน
​ 10. ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน
11. ครัวเรือนมีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ
​ 12. ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ
13. ครัวเรือนมีการป้องกันอุบัติภัยและภัยธรรมชาติอย่างถูกวิธี
14.ครัวเรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

หมวดที่ 3 การศึกษา มี 5 ตัวชี้วัด
15. เด็กอายุ 3 – 5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
​ 16. เด็กอายุ 6 -14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
17. เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า
18. คนในครัวเรือนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ
ได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ
19. คนอายุ 15 – 59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้
หมวดที่ 4 การมีงานทำและรายได้ มี 4 ตัวชี้วัด
20. คนอายุ 15 – 59 ปี มีอาชีพและรายได้
21. คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้
22. รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี (38,000 บาท/คน/ปี)
23. ครัวเรือนมีการเก็บออมเงิน
และหมวดที่ 5 ค่านิยม มี 8 ตัวชี้วัด
24. คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา
25. คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่
26. คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
27. ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
28. ผู้พิการ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
29. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
30. ครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือท้องถิ่น
31. ครอบครัวมีความอบอุ่น

นายอภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลที่ครอบถือว่าเป็นข้อมูลกลางของประเทศ เป็นเหมือนแผนที่คุณภาพชีวิตของคนไทย ช่วยให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มองเห็นภาพรวม เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของคน เห็นผลการพัฒนาที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต อีกทั้งสามารถชี้เป้าสู่การวางแผนเพื่อแก้ไขและพัฒนาไปอย่างมีทิศทางในทุกระดับ อีกทั้งภาครัฐ หรือ เอกชน ยังสามารถใช้เพื่อการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ ได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายด้วย ดังนั้น ข้อมูล จปฐ. ที่ถูกต้องเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญสุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้ จะมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทั่วประเทศไปเคาะประตูบ้านท่านเพื่อสอบถาม และจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ข้อมูลที่ได้จะไม่กระทบสิทธิ์ใดๆ ของท่าน ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและครอบครัว จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา บนหลักคิดที่ว่า “ร่วมพัฒนาประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล จปฐ.ที่เป็นจริง”

 

ประพัฒน์ บวรภโรทัย
รายงาน

Related posts