สอศ.โรดโชว์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเหนือ

สอศ.โรดโชว์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเหนือ

 

วันที่ 6 สิงหาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ระดับ(ภาคเหนือ) จัดโครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชย์ภาคเหนือ และพิธีลงนามจับคู่ธุรกิจโดยมี พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ณ.วิทยาลัยเทคนิคลำพูน

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มี นโยบายในการขับเคลื่อนผลงานสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ให้สามารถจำหน่าย ได้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน การจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา และการเจรจาซื้อขายผลงาน สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำการวิจัยพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา

 

ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ นับเป็นหัวใจหลักในการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งผลจากความร่วมมือได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งนี้ สอศ. ได้กำหนดการขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ สู่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ไว้อย่างครอบคลุมในทุกภูมิภาค โดยระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2561 จะมีกิจกรรมจับคู่เจรจาในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไปด้วย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ การประสานงานของคณะกรรมการดำเนินการทุกฝ่าย ตามกลไกของรัฐบาลในความร่วมมือเครือข่าย ประชารัฐ เป็นการสร้างโอกาส และ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำความรู้ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ในการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่มีคุณค่าสู่เชิงพาณิชย์และการต่อยอดทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับ ศึกษาธิการภาค ได้ดำเนินการมาแล้วในส่วนของภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จำนวน 116 ชิ้นงาน MOU 24 คู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 243 ชิ้นงาน MOU 98 คู่ และภาคกลาง จำนวน 222 ชิ้นงาน MOU 75 คู่

 

สำหรับในส่วนของภาคเหนือ ได้จัดให้มีโครงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถานศึกษาภาคเหนือ ที่ผ่านการคัดเลือกว่าสามารถพัฒนาต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวนทั้งสิ้น 251 ผลงาน เพื่อให้สถานประกอบการได้เยี่ยมชม ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น และนำไปสู่การจับคู่ความร่วมมือในการนำผลงานไปใช้งานจริง ในเชิงธุรกิจต่อไป

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ในภาคเหนือ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา จากสถานศึกษาภาคเหนือ ทั้ง 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 251 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานที่มีการ ลงนามความร่วมมือ จำนวน 170 ผลงาน ผลงานที่มาจัดแสดงนิทรรศการ จำนวน 81 ผลงาน

การจัดนิทรรศการ ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนบน (Northern Economic Corridor : NEC) และการจัดสมัชชา “OPEN HOUSE” อาชีวะพัฒนาค่านิยมไทย : เกษตรทฤษฎีใหม่และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงจัดให้มีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง แนวทางการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการจัดประเภทสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา จำนวน 348 คน และได้จัดให้มีการเจรจาความร่วมมือในการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ในการเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภาคเหนือ รวมผลงานทั้งสิ้น 170 ผลงาน ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. เจรจาเพื่อซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 24 ผลงาน 2.แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมแล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 17 ผลงาน

3. ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษา ในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป จำนวน 7 ผลงาน 4. ให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อดำเนินการทางธุรกิจต่อไป จำนวน 122 ผลงาน พร้อมทั้งมีการจัดนิทรรศการแสดงสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา

โดยมีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการ จำนวนทั้งสิ้น 2,930 คน โดยมีผู้บริหารสถานประกอบการ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จำนวน 300คน และกิจกรรม เป็นการลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ในการเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภาคเหนือ

นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่

Related posts