สมาคมฯ -ชมรมผู้บริหาร (ประถม-มัธยม) 1,500 คน ประชุมสัมมนาวิชาการ พร้อมเสนอมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต (ชมคลิปคลิกๆ )

สมาคมฯ -ชมรมผู้บริหาร (ประถม-มัธยม) 1,500 คน ประชุมสัมมนาวิชาการ พร้อมเสนอมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

 

  เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จ.ปทุมธานี โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “บทบาทหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุค กศจ.” โดยสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.) ร่วมกับ สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งการประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ มีผู้บริหารการศึกษาระดับเขตพื้นที่ และผู้บริหารสถานศึกษา ทั่วทุกภาคเข้าร่วมประชุม 1,500 คน โดยมีเนื้อหาหลักในการประชุมถึงเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายกับการบริหารการศึกษาในยุค กศจ. และทิศทางและบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในยุด กศจ.

 

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในที่ประชุมว่า รู้สึกดีใจ และขอชื่นชมคณะกรรมการของสมาคมฯ ชมรมฯ ในการจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีผู้บริหารได้มารวมตัวเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวันนี้ นำความคิดเห็นและประสบการณ์ที่มีอยู่แต่ละพื้นที่ มาแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการเพื่อที่จะนำแนวคิดไปพัฒนางานของแต่ละท่าน หรือเป็นแนวคิดข้อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปแนวปฏิบัติ นั่นหมายถึงทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่มีความมุ่งหมายที่สำคัญที่จะจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดีมีความสามารถ มีคุณธรรมนำความรู้และอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม

 

ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึง “บทบาทหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือขับเคลื่อน และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 วรรค 4 ที่กำหนดว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” และบทบาทสำคัญของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่สำคัญจะต้องบริหารจัดการ กระตุ้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานและสถานศึกษามีขวัญกำลังใจในการทำงาน ในเรื่องของผู้อำนวยการ, รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้จะมีความเคลื่อนไหวในเรื่อง ส่วนบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ในรอบนี้ก็จะมีการจัดกรอบอัตรากำลังก็ขอให้ดำเนินการไปก่อน และจะมีการปรับกรอบอัตรากำลังออกมีอีก 2 กลุ่ม แล้วจะมีการจัดกรอบอัตรากำลังใหม่อีกรอบหนึ่ง ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ก็จะมีการคัดสรรให้ทุกคนอยู่ในระบบที่มั่นคงยิ่งขึ้น

ในส่วนที่ต้องการปรับแก้ไขบทบาทหน้าที่ของ กศจ. ได้ร่างเสนอคำสั่งที่จะแก้ไข คำสั่งที่ 19 ในช่วง2-3 เดือนที่แล้ว โดย รมว.ศธ. ท่านให้เกียรติเป็นประธานในการปรับแก้ไขทุกครั้ง สิ่งที่ขอปรับแก้ไขตรงกันทุกครั้งก็คือ บทบาทหน้าที่ของ กศจ. โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนยุทธศาสตร์ ก็คือเอางานของคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯไปทำ และส่วนของการบริหารงานบุคคล เอางานของ อ.ก.ค.ศ. ไปทำ และทั้ง 2 บอร์ดนั้นจะต้องมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ อยู่ด้วย และสิ่งที่เราเรียกร้องอยากให้งานสะดวกราบรื่น ไม่ได้มีการชิงอำนาจกัน ท่านศึกษาธิการจังหวัด ก็เห็นด้วยและเข้าใจ ก็คือการยกเลิกข้อ 13 ในเรื่องของการให้อำนาจตามมาตรา 53 กลับไปสู่ผู้บังคับบัญชาโดยสายงาน คือการคืนอำนาจไปให้ผู้อำนวยการโรงเรียน คืนอำนาจไปให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทั้งนี้ท่านรัฐมนตรี ศธ. ท่านเห็นด้วย และอีกประการหนึ่งที่ท่านจะสนับสนุนก็คือการให้มี อ.ก.ค.ศ. สพฐ. ให้มีการทำงานง่ายยิ่งขึ้น โดยให้มีการนำไปเสนอให้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 25 และการขอเพิ่มให้มีกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กบว) ทั้งนี้จึงอยากให้ทางสมาคมฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีการแสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ เพื่อผลักดันในสิ่งที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องไปเคลื่อนไหวใดต่อการขอแก้ไข ตามมาตรา 44 อีกแล้วเพราะว่า พ.ร.บ.ข้าราชการครูฯ จะมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนกว่า ในบทบาทข้อกฎหมายที่จะออกมาประกาศใช้

และประการหนึ่งที่ทาง รมว.ศธ. อยากพบเพื่อนผู้บริหารเพื่อที่จะขอบคุณ ที่ผู้บริหารได้ขับเคลื่อนนโยบายเป็นผลสำเร็จอย่างเร่งด่วน เป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือการปฏิรูปในห้องเรียน การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งหน้างานจริงของกระทรวงศึกษา คือห้องเรียนที่เราเปลี่ยนไปมากแล้ว บุคคลสำคัญก็คือ ครูผู้สอน ที่มีการพัฒนาตนเองโดยทาง สพฐ.ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้คูปองครูในการพัฒนาแล้วครูนำมาใช้ในพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียน มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาครูภาษาอังกฤษแบบบูชแคมป์ ครูได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสอนเป็นผลสำเร็จ

ด้าน นายสมวุฒิ ศรีอำไพ นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและการปฏิบัติหน้างานของผู้บริหารการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา มีพลังขับเคลื่อนสู่จุดหมายที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างภาพใหม่ขององค์กร สร้างสรรค์คุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานสูงและเป็นที่พึ่งพอใจของสังคมและเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิบัติราชการให้มีความเป็นเลิศสามารถรองรับการพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษา สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทยและชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “บทบาทหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุค กศจ.” ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ทางการบริหารงาน มีความพร้อมและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา


โดยกิจกรรมภาคเช้าได้เชิญท่าน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาราชภัฏนครราชสีมา ประธาน สคบท. ได้มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องอนาคตการศึกษาขั้นพื้นฐานทางเลือกและทางรอด และภาคบ่ายเป็นการเสวนาของผู้นำองค์กรครู ได้เปิดให้สมาชิกได้อภิปรายสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายใต้ กศจ. ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงอุปสรรคปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็คือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่19/2560 บางข้อที่ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติและความเต็มศักยภาพในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบร่วมกันว่า
1) เสนอให้นายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้พิจารณาหาวิธีการแก้ไขปัญหาของคำสั่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องที่เป็นข้อจำกัด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้เคยเสนอแนวทางแก้ไขไปแล้วและสมาคมฯเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
2) สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงาน ก.ค.ศ.ยกร่างเสนอแก้ไขในประเด็นที่เป็นข้อจำกัดการบริหารงานบุคคลของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่19/60 โดยเสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เป็นธรรมและเสมอภาคกว่าเดิม ให้อำนาจการบรรจุแต่งตั้งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยตรง.
3) แต่งตั้งคณะทำงานเฝ้าติดตามการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างใกล้ชิด ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561
4) จะสร้างพลังความร่วมมือกับองค์กรครูทั่วประเทศเพื่อจัดประชุมเสวนาทางวิชาการในหัวข้อดังกล่าวโดยให้แต่ละจังหวัดจัด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดให้เห็นข้อจำกัดของการการขับเคลื่อนการศึกษา ซึ่งจะต้องร่วมมือกันสนับสนุนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯที่กระทรวงศึกษาธิการจะเสนอให้ผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องในเร็วๆนี้
5)แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหา เฝ้าติดตามปัญหาที่เกิดจากการทำงานในด้านต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อรายงานให้ผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

 

/// ขอบคุณข้อมูลจาก ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย /////

Related posts