ททท. จัดท่องเที่ยววิถีไทยมอญ 3 จังหวัด เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุง ภายใต้แนวคิด Amazingไทยเท่ เพื่อกระจายรายได้ไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี

ททท. จัดท่องเที่ยววิถีไทยมอญ 3 จังหวัด เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุง ภายใต้แนวคิด Amazingไทยเท่ เพื่อกระจายรายได้ไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย จัดคาร์แรลลี่ ท่องเที่ยว วิถีมอญ 3 จังหวัด เส้นทางกรุงเทพฯ – นนทบุรี – ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 16 – 17 มิถุนายน 2561 โดยได้นำเอกลักษณ์และจุดเด่นของชุมชนมอญในแต่ละพื้นที่ของ 3 จังหวัด เช่น ชุมชนมอญบางกระดี่ ชุมชนมอญเกาะเกร็ด และชุมชนมอญศาลาแดงเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรม ที่ในปัจจุบันหาชมได้ยาก มานำเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสถึงอัตลักษณ์วิถีการดำเนินชีวิต ความเป็นมา วัฒนธรรมอันดีงามการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในชุมชน

โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดในรูปแบบคาร์แรลลี่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน รถยนต์ 30 คัน นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรม เพื่อเก็บสะสมคะแนนตามจุดต่างๆ เริ่มจากเดินทางไปยัง ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมมอญ ชุมชนบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร มอญกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานคือทหารมอญจากเมืองหงสาวดี อพยพเข้ามาในรัชกาลที่ 2 ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มมอญอีกกลุ่มหนึ่งถูกกวาดต้อนมาขุดลอกคลองด่าน เมื่อเสร็จงานแล้วจึงตั้งรกรากอยู่ที่นี่ และมีการสร้างวัดและศาลเจ้าพ่อบางกระดี่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีชาวมอญจากบริเวณอื่นอพยพตามมาสมทบ ปัจจุบันที่นี่ ได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของชาวมอญไว้เป็นอย่างดี ชมสาธิตการทำแซ้จากต้นจาก และการแสดงทะแยมอญที่หาชมได้ยาก ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่ร่วมแรลลี่จะได้ร่วมถวายภัตตาหารเพลพร้อมรับพรจากพระที่สดเป็นทำนองแบบมอญ และรับประทานอาหารมอญฝีมือชาวมอญแบบแท้ๆ


หลังจากนั้นเดินทางสู่ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นชุมชนชาวมอญริมน้ำที่อพยพเข้ามายังเกาะเกร็ด 2 ครั้ง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอีกครั้งรัชกาลที่2 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกาะเกร็ดมีความโดดเด่น และมีชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นดินเผา มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ คณะแรลลี่จะได้ร่วมปั้นเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นของที่ระลึกและเยี่ยมชมตามเส้นทางท่องเที่ยวพร้อมชิม ช้อปสินค้า ระหว่างทางเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องห้าม….พลาด เมื่อมาเกาะเกร็ด ล่องเรือกลับมายัง วัดกู้ (วัดพระนางเรือล่ม) เดิมมีชื่อว่า “วัดท่าสอน” หรือ “วัดหลังสวน” เป็นวัดเก่าแก่เล่ากันว่าผู้สร้างคือ พญาเจ่ง ชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โบราณสถานของวัดกู้ จึงมีศิลปะแบบมอญผสมผสาน อาทิ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ พระพุทธรูป เจดีย์ทรงมอญ ภายหลังขบวนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดอุบัติเหตุล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ เล่ากันมาว่าได้เชิญพระศพขึ้นที่วัดกู้นี้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะอัญเชิญพระศพสู่พระบรมมหาราชวังต่อไป ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดกู้” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า “พระนางเรือล่ม” มานับแต่นั้นเป็นต้นมา

​​

ในวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2561 คณะนักท่องเที่ยวคาร์แรลลี่ ท่องเที่ยววิถีมอญ 3 จังหวัด จะออกเดินทางเข้าสู้จังหวัดปทุมธานี เพื่อไปยัง ชุมชนมอญวัดศาลาแดงเหนือ เป็นหมู่บ้านของคนไทย เชื้อสายมอญ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี บรรพชนของชาวบ้านศาลาแดงเหนือส่วนใหญ่อพยพมาจากเมือง เมาะตะมะ เนื่องจากพ่ายแพ้สงครามพม่า จึงพากันอพยพครอบครัวเข้ามาในสมัยรัชกาลที่2 ชุมชนศาลาแดงดำเนินวิถีชีวิตตามครรลองในพระพุทธศาสนา และยึดมั่น ในอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายมอญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ต่างร่วมมือกันช่วยกันดูแลชุมชนและรักษาสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านให้งดงาม เป็นระเบียบ สะอาด เมื่อนักท่องเที่ยวมาก็จะเกิดความประทับใจ ซึ่งจุดนี้ คาร์แรลลี่ ท่องเที่ยววิถีมอญ 3 จังหวัด จะได้ทำสะไบมอญและหางหงส์ร่วมกันเพื่อได้เรียนรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

​ทั้งนี้ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร มีความมุ่งหวังว่าการจัดกิจกรรม คาร์แรลลี่ ท่องเที่ยววิถีมอญ 3 จังหวัด จะช่วยสร้างการรับรู้ถึงข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงของทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้เกิดการเดินทางพักค้างในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี อันจะนำมาซึ่งการกระจายรายได้ไปสู้ท้องถิ่น นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังจะสอดแทรกการปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการลดใช้พลาสติกเพื่อเป็นการไม่เพิ่มขยะไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

ประพัฒน์ บวรภโรทัย
บวรทัต แย้มเผื่อน
ภาวิต หันตะคุ
รายงาน

Related posts